ขั้นตอนการทำงาน ของ ลานเซลอต บราวน์

รัสเซล เพจ กล่าวถึงขั้นตอนการทำงานของบราวน์ไว้ว่า “โน้มน้าวและกระตุ้นให้ลูกค้าที่ร่ำรวยรื้อสวนแบบรูปนัยเดิมทิ้งและทดแทนด้วยการจัดให้มีสนามหญ้า กลุ่มต้นไม้ และสระและทะเลสาบที่มีรูปทรงอิสระ” ริชาร์ด โอเวน เคมบริดจ์ กวีชาวอังกฤษและนักเขียนเรื่องเสียดสีได้ประกาศว่าตนเองขอตายก่อนถึงยุคสวนของบราวน์เพื่อจะได้ “เห็นสวรรค์ก่อนที่จะถูกปรับปรุง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเล่าลือ ถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของบราวน์ที่สามารถอยู่ยั่งยืนมานานได้มากกว่า 200 ปี แต่ในทางตรงกันข้าม ริชาร์ด บิสโกรฟ กล่าวถึงขั้นตอนงานของบราวน์ว่าเป็นการทำธรรมชาติให้สมบูรณ์ว่า

การจัดวางรูปแบบที่สุขุมรอบคอบด้วยการใส่ต้นไม้ที่ตรงจุด หรือการปิดบังปากทางเข้าของทางน้ำที่ไม่น่าดู นับเป็นศิลปะของบราวน์ที่เสริมรับกับรูปของพื้นผิวดิน น้ำ ต้นไม้ เหล่านี้ ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่เป็นตัวสร้างรูปแบบอันเป็นอุดมคติของภูมิทัศน์อังกฤษ ...แต่ข้อที่ยากลำบากสักหน่อยก็ได้แก่ผู้เลียนแบบที่ด้อยความสามารถและไม่พิถีพิถัน พวกนี้มักจะมองความสมบูรณ์ของธรรมชาติไม่ออก ...เขาจะเห็นก็แต่สิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็นธรรมชาติที่เขาใส่ลงไปเท่านั้น

การตบแต่งอย่างชำนิชำนาญนี้ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับการยอมรับในสมัยของบราวน์เองเท่านั้น คำไว้อาลัยที่เขียนโดยผู้ไม่ได้ลงชื่อกล่าวถึงงานของบราวน์ไว้ว่า “น่าเสียดายที่ผลงานจากความความชาญฉลาดของ¬บราวน์ที่ทำให้เขาเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุดนั้นจะกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้มีคนจำเขาได้เพียงชั่วครู่เท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากการเลียนแบบธรรมชาติมากเกินไปนั่นเองที่ทำให้งานของเขาผิดพลาด” ความเป็นที่นิยมชมชอบบราวน์ลดน้อยลงอย่างรวดเร็วหลังการตายของเขา เพราะคนทั่วไปมองว่าเป็นการลอกเลียนธรรมชาติมากไป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 บราวน์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนักจากทุกๆ คน แต่สถานการณ์นี้กลับกลายเป็นตรงกับข้ามเมื่อกาลเวลาได้ล่วงถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความนิยมชมชื่นบราวน์ได้กลับคืนมาดังเดิม ทอม เทอร์เนอร์ได้แนะว่าเป็นเพราะเนื่องมาจากงานเขียนของมารี-หลุยส์ กอเธียน เรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะของสวน” (History of garden art) ที่เน้นให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะของบราวน์ รวมทั้งความเห็นเชิงบวกในผลงานของบราวน์ในงานเขียนเรื่อง “งามดังภาพวาด” (The Picturesque) ของคริสโตเฟอร์ ฮัสเซย์